วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า สามารถนำวัตถุดิบจากต่างประเทศ เข้ามาทำการผลิต หรือ ผสม หรือ ประกอบ เป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยงดเว้นการเก็บอากรขาเข้า และอากรขาออก แก่ของที่ปล่อยออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ไม่ว่าจะส่งออกในสภาพเดิมที่นำเข้าหรือในสภาพที่ได้ผลิต หรือ ผสม หรือ ประกอบเป็นของอื่น
สิทธิประโยชน์ในการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า 
 (1)  ยกเว้นอากรขาเข้าและขาออก สำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิต ผสม ประกอบ เป็นสินค้าส่งออกรวมทั้ง การส่งออกในสภาพเดิมที่นำเข้า
(2)  วัตถุดิบที่นำเข้ามา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ภายใต้คลังสินค้าทัณฑ์บน หากส่งออกไม่มีภาระภาษีสรรพสามิต
(3)  เมื่อได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคลังฯ ผู้ประกอบการสามารถใช้การค้ำประกันแทนการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นวัตถุดิบที่นำเข้า จึงไม่ต้อง ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
(4)  วัตถุดิบภายในคลังที่เกิดสภาพด้อยคุณภาพ วัตถุดิบที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน สินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตได้จากคลังฯ ถ้าประสงค์ จะจำหน่ายภายในประเทศ สามารถกระทำได้โดยชำระค่าภาษีอากรตามสภาพของสินค้าหรือวัตถุดิบนั้น
(5)  วัตถุดิบที่เสียหายจากการผลิต (ส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต)สามารถขอทำลาย หรือบริจาคให้แก่องค์การกุศล หรือส่วนราชการได้ โดยไม่ต้อง เสียภาษีใด ๆ
(6)  ของที่เก็บอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บน ให้มีอายุการเก็บรักษา 2 ปี นับแต่วันนำเข้า ไม่ว่าจะเก็บอยู่ในสภาพเดิมที่นำเข้า หรือในสภาพที่ผลิต ผสม ประกอบเป็นของอื่น
(7)  สินค้าที่ส่งออกหากชำรุดสามารถนำกลับเข้ามาซ่อมในคลังฯ ได้
(8)  ยกเว้นภาษีอากรแก่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต แต่ไม่ปรากฏเห็นชัดใน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก เช่น เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาสภาพอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง เคมีภัณฑ์ชนิดสเปรย์ที่ใช้ฉีดคอเสื้อให้แข็งในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูป ตัวทำละลายที่ใช้ผสมกาวในผลิตภัณฑ์ประเภท เซลโลเฟน และน้ำมันกันสนิมในผลิตภัณฑ์ประเภทวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
(9)  ยกเว้นภาษีอากรแก่วัตถุดิบที่ใช้สิ้นเปลืองและจำเป็นในการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ที่ทำให้เส้นด้ายเหนียว เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการซักฟอกในผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งทอ กระดาษทราย ผงขัด น้ำยาขัดเงาสักหลาด เป็นต้น
(10)  ยกเว้นอากรขาเข้าแก่เครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องจักร รวมทั้งเครื่องมือและเครื่องใช้ที่ใช้กับเครื่องจักรดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นของตามประเภทพิกัดใดที่อธิบดีกรมศุลกากรอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อใช้ทำการผลิตสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

คุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า 

(1)     เป็นรัฐวิสาหกิจ  หรือบริษัท มหาชน จำกัด  ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัท มหาชน จำกัด  พ.ศ. 2535
(2)     เป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า  1  ล้านบาท
(3)     เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองหรือมีสิทธิในการใช้พื้นที่ที่ขอจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย
(4)     ต้องไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร  หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง  3  ปี นับแต่วันยื่นคำขอ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า

(1)     เป็นกิจการที่มั่นคงและมีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตเพื่อส่งออก
(2)     เป็นกิจการที่มีการว่าจ้างแรงงานเป็นจำนวนมากหรือใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง
(3)   มีระบบบัญชีที่ดีควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์  และเป็นระบบที่กรมศุลกากรสามารถตรวจสอบและควบคุมได้ และจะต้องเชื่อมต่อกับระบบ  ELECTRONIC DATA INTERCHANGE (EDI)  ของกรมศุลกากรได้  โดยหลักฐานการควบคุมและทะเบียนทางบัญชีให้ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด  และจะต้องดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันปล่อยของ  และพร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
(4)   อาณาเขตที่ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ  ต้องเป็นสัดส่วนและเหมาะสม  มีรั้วล้อมรอบ  ประตูเข้า-ออก และอาคารต้องมั่นคงแข็งแรง  เว้นแต่โดยสภาพของกิจการไม่จำเป็นต้องมีรั้วและบริเวณหรือโดยสภาพแวดล้อมสามารถดำเนินการก่อสร้างสิ่งอื่นทดแทนรั้วได้
(5)     มีความเหมาะสมด้านอื่น ๆ เช่น การใช้สิทธิโควต้าหรือระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป
(6)     จัดให้มีสถานที่อันควรสำหรับเป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่ศุลกากร
(7)   จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่ทันสมัยอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิต   สินค้า  เช่น  ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)  ที่มีความสามารถในการบันทึกภาพเหตุการณ์บุคคล  หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ  หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์  และ/หรือสิ่งที่ผ่านเข้า-ออก และสามารถเปิดตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า  60  วัน  ระบบควบคุมทางบัญชีแบบอิเลคโทรนิกส์ (INVENTORY  CONTROL)  ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร  และต้องดูแลเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยพร้อมที่จะใช้งานและตรวจสอบได้ตลอดเวลา
(8)     ยินยอมและให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนได้ตลอดเวลา
(9)   จะต้องทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนกับกรมศุลกากร โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวนร้อยละ 10 ของค่าภาษีอากรวัตถุดิบคงเหลือแต่ละงวดบัญชี แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท และชำระค่าธรรมเนียมประจำปีตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
(10) จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับศุลกากร  และคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ศุลกากร

เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า 

(2)     ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่ออกให้ล่าสุด หรือไม่เกิน 6 เดือน
(3)     ใบทะเบียนการค้ากรมสรรพากร
(4)     ใบอนุญาตตั้งโรงงาน ใบอนุญาตขยายโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม
(5)     สำเนาเอกสารสำคัญเกี่ยวกับที่ดิน (โฉนดที่ดิน, นส. 3 ฯลฯ)
(6)     สัญญาเช่าที่ดินโรงงาน
(7)     งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว (3 ปีย้อนหลัง)
(8)     ข้อมูลการนำเข้าและส่งออก จากใบขนสินค้าขาเข้าและขาออกย้อนหลังจากเดือนที่ยื่นคำขอ 6 เดือน ถ้าเป็นบริษัทตั้งใหม่ใช้ข้อมูลประมาณการล่วงหน้า 2 ปี
(9)     ภาพถ่ายประกอบการพิจารณา ให้จัดทำภาพถ่ายโปสการ์ดสี แล้วติดกระดาษ A4 หน้าละ 2 ภาพ พร้อมพิมพ์คำบรรยายใต้ภาพทุกภาพ 1 ชุด
(10) แบบแปลนแผนผังโรงงาน  โดยใช้พิมพ์เขียว ขนาด A2 (ไม่เกิน 40 x 60 ซม.) ตามจำนวนที่กำหนด (4 ชุด) และแสดงสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบัน โดย เขียนหมายเลขตามที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานในวงกลม ในส่วนต่าง ๆ ของ อาคารในพิมพ์เขียว และเขียนคำอธิบาย สถานที่ของแต่ละเลขหมาย ไว้ในที่ว่างมุมใด มุมหนึ่ง ของพิมพ์เขียว จำนวน 3 ชุด
(11)      เอกสารชี้แจง
(11.1)     ขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตสินค้า
(11.2)   ชี้แจงวิธีการควบคุมวัตถุดิบสินค้าระหว่างผลิตและสินค้าสำเร็จรูป
(11.3)   วิธีการควบคุมทางด้านบัญชี
(12)      บัตรส่งเสริมการลงทุน (ถ้ามี)
 * เอกสารข้อ 1-12 ยกเว้น 10 ให้จัดทำสำเนา 1 ชุด  เอกสารต้นฉบับและสำเนาทุกแผ่นให้ผู้มีอำนาจลงนามประทับตราบริษัท

ขั้นตอนในการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า 

(1)     ผู้ขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า จัดทำหนังสือของบริษัทถึงอธิบดีกรมศุลกากร  พร้อมแบบคำขอจัดตั้งคลังฯที่กำหนด พร้อมหลักฐานและเอกสารที่กรมศุลกากรกำหนดที่ถูกต้อง และครบถ้วน ยื่น ต่อ ส่วนหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร อาคาร 120 ปี กรมศุลกากร
(2)     กรมศุลกากรจะตรวจสอบคำขออนุมัติจัดตั้งและเอกสารประกอบ  หากถูกต้องครบถ้วนก็จะรับไว้พิจารณาและไปตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างและการดำเนินงานหรือข้อมูลและวิธีการดำเนินงานตามที่ผู้ขอจัดตั้งได้จัดทำมา  ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ว่าได้จัดทำหรือจัดหาไว้ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับและความจำเป็นเพียงใดหรือไม่  โดยจะไปดำเนินการตรวจสอบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขออนุมัติจัดตั้งไว้พิจารณา
(3)     เมื่อได้ตรวจสอบคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และสถานที่ที่ขอจัดตั้งแล้ว  หากเห็นว่าถูกต้องเป็นไปตามระเบียบข้อกำหนดแล้ว  กรมศุลกากรจะอนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ตรวจสอบสถานที่และผู้ขอจัดตั้งได้ดำเนินการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนด  หากพ้นกำหนดให้พึงถือว่ากรมศุลกากรได้อนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าได้
(5 )  ผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งขอจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าจะต้องชำระค่าธรรมเนียมคลังประจำปี ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนกับกรมศุลกากร โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวนร้อยละ 10 ของค่าภาษีอากรวัตถุดิบคงเหลือแต่ละงวดบัญชี แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามหนังสือแจ้งจากกรมศุลกากร มิฉะนั้นจะถือว่าสละสิทธิ์การขอจัดตั้งคลังฯ

การทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และการวางค้ำประกัน 
ผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าจะต้องมาทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน  โดยมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารวางไว้เป็นการค้ำประกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่กรมศุลกากร  และเพื่อผูกพันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนดขึ้น  โดยวงเงินแห่งความรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันของธนาคารให้มีจำนวนร้อยละ   10   ของค่าภาษีอากรวัตถุดิบ     คงเหลือแต่ละงวดบัญชีแต่ไม่เกิน  1  ล้านบาท หรือตามแต่กรมศุลกากรจะเห็นสมควร  โดยคำนึงถึง       ค่าภาษีอากรที่อาจต้องเรียกเก็บและพฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ  วงเงินค้ำประกันดังกล่าวนี้กรมศุลกากร      มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงภายหลังได้  ในกรณีที่กรมศุลกากรสั่งเพิ่มวงเงินค้ำประกันให้     ผู้ได้รับอนุมัตินำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเรื่องจากกรมศุลกากร
ในกรณีที่คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าได้ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี  และผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งฯ ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการวางค้ำประกัน  ให้หน่วยงานตรวจสอบคลังสินค้า ทัณฑ์บนพิจารณาและตรวจสอบผลการดำเนินงานจากงบการเงินตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์   ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีได้รับรองว่าเป็นกิจการที่มีกำไรย้อนหลัง 3 ปีบัญชีติดต่อกันและไม่มียอดขาดทุนสะสม  พร้อมเสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายพิจารณาอนุมัติโดยไม่ต้องวางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร 
กรณีคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าได้ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หากมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์ในการค้ำประกันด้วยหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นหลักทรัพย์อย่างอื่น  เช่น พันธบัตรรัฐบาล   สลากออมสิน  บัญชีเงินฝากธนาคาร  เป็นต้น  ให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อพิจารณาดำเนินการ
อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า 
ผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งจะต้องชำระค่าธรรมเนียมประจำปีโดยมี อัตราค่าธรรมเนียม 10,000 บาท ต่อปี ค่าธรรมเนียมประจำปีจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกๆ ปี และ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมประจำปีของปีถัดไป ก่อนวันที่ 31 ธันวาคมของปีปัจจุบัน
การตรวจสอบคุณสมบัติของคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าหลังจากการอนุมัติให้จัดตั้ง
กรมศุลกากรจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้ง  การปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ให้ไว้กับกรมศุลกากรและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เป็นไปตามประกาศ   คำสั่ง หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กรมศุลกากรเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดขึ้นใหม่และประวัติการกระทำความผิด  ทุก ๆ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาประกันและทัณฑ์บน   เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรต่อไป
ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าข้อใดข้อหนึ่ง  และกรมศุลกากรได้แจ้งข้อบกพร่องให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่ผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวภายในเวลาที่        กรมศุลกากรกำหนด   กรมศุลกากรมีสิทธิยกเลิกการอนุมัติจัดตั้งคลังและบังคับสัญญาประกันทัณฑ์บนและเรียกค่าเสียหายหรืออาจดำเนินการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควร
การยกเลิกสัญญาและเพิกถอนการอนุมัติการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า 
(1) กรณีที่กรมศุลกากรเป็นผู้บอกเลิกสัญญาประกัน อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะบอกเลิกสัญญาประกันและเพิกถอนการอนุมัติการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนทุกประเภท เมื่อผู้ให้สัญญากระทำผิดเงื่อนไขใดๆ ในสัญญานี้ และกรมศุลกากรเห็นว่า หากจะให้ดำเนินการต่อไป อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำผิดเงื่อนไขใด ๆ ในสัญญานี้ ตามแต่จะเห็นควร โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนเงินที่ผู้ให้สัญญา ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางไว้ต่อกรมศุลกากร และผู้ให้สัญญาจะต้องชำระให้ครบถ้วน ตามจำนวนที่อธิบดีเรียกร้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากร
(2) กรณีที่ผู้ให้สัญญาประสงค์จะบอกเลิกสัญญานี้ ผู้ให้สัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่ออธิบดีกรมศุลกากร แต่บรรดาความรับผิดชอบและข้อผูกพันใด ๆ ตามข้อสัญญานี้จะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่ออธิบดีกรมศุลกากรได้ยินยอม และเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น ไม่ว่าสัญญาประกันจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ถ้าผู้ให้สัญญาได้กระทำการ ใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้กรมศุลกากร เกิดสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้ให้สัญญา ต้องใช้เงิน หรือต้องปฏิบัติการใด ๆ ผู้ให้สัญญาจะต้องใช้เงิน หรือปฏิบัติการดังกล่าว นั้นต่อไปจนครบถ้วน และยอมรับผิดชอบ ในความเสียหายอันเกิดจากการเพิกเฉยหรือละเว้นที่จะใช้เงินหรือปฏิบัติการดังกล่าวทุกประการ ตามสัญญาประกันที่ให้ไว้แก่กรมศุลกากร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 
ส่วนหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร โทร. 0-2240-2514-6 โทรสาร.0-2672-8121 

ประกาศศุลกากรที่เกี่ยวข้อง ประกาศกรมศุลกากรที่ 5/2547

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น